แบบสอบถามคือ( Questionnaires)

แบบสอบถาม (Questionnaires)

แบบสอบถามเป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งที่สร้างขึ้นเพื่อวัดความคิดเห็นต่างๆ หรือวัดความจริงที่ไม่ทราบ อันจะทำให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงทั้งในอดีต ปัจจุบัน และการคาดคะเนเหตุการณ์ในอนาคตส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของคำถามเป็นชุดๆ เพื่อวัดสิ่งที่ต้องการวัด โดยมีคำถามเป็นตัวกระตุ้นเร่งเร้า ให้บุคคลตอบออกมา นับว่าเป็นเครื่องมือที่นิยมใช้วัดทางด้านจิตพิสัย (Affective Domain)

1โครงสร้างของแบบสอบถาม

แบบสอบถามมีหลายชนิดแต่ไม่ว่าจะเป็นแบบสอบถามชนิดใดจะมีโครงสร้างหรือ ส่วนประกอบที่สำคัญ 3 ส่วน ดังนี้

1. คำชี้แจงในการตอบแบบสอบถาม

2. สถานภาพทั่วไป ในส่วนนี้เป็นรายละเอียดส่วนตัวของผู้ตอบ

3. ข้อคำถามเกี่ยวกับพฤติกรรมที่จะวัด จะถามเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องการจะวัด

2 การสร้างแบบสอบถาม

แบบสอบถามมีขั้นตอนในการสร้างดังนี้

1. กำหนดจุดมุ่งหมายของแบบสอบถาม ผู้สร้างแบบสอบถามต้องระบุจุดมุ่งหมายของแบบสอบถามให้ชัดเจน ระบุให้ได้ว่าแบบสอบถามจะถูกนำไปใช้ในเรื่องอะไร

2. กำหนดประเด็นหลัก หรือพฤติกรรมหลักที่จะวัดให้ครบถ้วนครอบคลุมว่าจะมีประเด็นอะไรบ้าง หรืออาจเรียกว่าเป็นการกำหนดกรอบแนวคิดหรือโครงสร้างของแบบสอบถาม

3 . กำหนดชนิด หรือรูปแบบของแบบสอบถาม โดยเลือกให้เหมาะสมกับเรื่องที่จะ วัด และลักษณะของกลุ่มผู้เรียน

4. กำหนดจำนวนข้อคำถาม โดยอาจจะกำหนดในเบื้องต้นว่าต้องการจะให้แบบสอบถามมีความยาวมากน้อยเพียงใด และคลุมประเด็นหลัก ประเด็นย่อยอย่างไรบ้าง

5. สร้างข้อคำถามตามจุดมุ่งหมาย ชนิดหรือรูปแบบ จำนวนข้อในประเด็นต่างๆ ที่กำหนดไว้ตามโครงสร้างของแบบสอบถาม

6. ตรวจทานเพื่อการแก้ไข ปรับปรุง แบ่งออกเป็น 2 ตอน คือ ตอนแรกตรวจทานโดยผู้สร้างแบบสอบถามเอง ตอนที่สองตรวจสอบ พิจารณาให้คำแนะนำและวิจารณ์โดยผู้รู้หรือผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ชำนาญการ

7. นำแบบสอบถามไปทดลอง การนำไปทดลองใช้ (Try out) ควรนำไปทดลองกับกลุ่มที่มีลักษณะเหมือน หรือใกล้เคียงกับกลุ่มที่จะไปเก็บรวบรวมข้อมูลจริง

8. วิเคราะห์แบบสอบถาม โดยการนำผลจากการไปทดลองมาวิเคราะห์เพื่อหาคุณภาพ และปรับปรุงแบบสอบถามในส่วนที่ยังมีข้อบกพร่องต่างๆ

9. จัดพิมพ์แบบสอบถาม เพื่อเตรียมนำไปใช้จริงต่อไป

3 รูปแบบของแบบสอบถาม

แบ่งรูปแบบของแบบสอบถามได้ 2 แบบ คือ

1. แบบสอบถามแบบปลายเปิด (Open-ended Form) แบบสอบถามแบบนี้ไม่ได้กำหนดคำตอบไว้ ผู้ตอบสามารถเขียนตอบหรือแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระด้วยคำพูดของตนเองคล้ายกับข้อสอบแบบอัตนัย

2. แบบสอบถามแบบปลายปิด (Closed-ended Form) แบบสอบถามแบบนี้ประกอบด้วยข้อคำถามและตัวเลือก ( คำตอบ ) ซึ่งตัวเลือกนี้สร้างขึ้นโดยคาดว่าผู้ตอบแบบสอบถามสามารถเลือกตอบได้ตามต้องการ และมีอย่างเพียงพอเหมาะสม แบบสอบถามแบบนี้สร้างยาก ใช้เวลาในการสร้างมากกว่าแบบสอบถามแบบปลายเปิด แต่ผู้ตอบตอบง่าย สะดวก รวดเร็ว นอกจากนี้ข้อมูลที่ได้สามารถนำไปวิเคราะห์ สรุปผลได้ง่ายอีกด้วย

แบบสอบถาม   เป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการวิจัย

แบบสอบถามแบบปลายปิด แบ่งเป็น 4 แบบดังนี้

2.1 แบบเติมคำสั้นๆ ในช่องว่าง (Short Answer)

แบบสอบถามแบบนี้ให้ผู้ตอบเติมข้อความลงในช่องว่างที่เว้นไว้ให้ ควรกำหนดขอบเขตคำถามให้ชัดเจนจำเพาะเจาะจงลงไป หากสร้างคำถามไม่ชัดเจนอาจทำให้ ผู้ตอบตีความหมายของคำถามไปคนละเรื่อง และตอบไม่ไปในทางเดียวกัน

2.2 แบบจัดอันดับความสำคัญ (Rank Order)

แบบสอบถามแบบนี้ต้องการให้ผู้ตอบตอบข้อที่เห็นว่าสำคัญ โดยเรียงอันดับตามความสำคัญจากมากไปหาน้อยตามความรู้สึกของผู้ตอบ

2.3 แบบตรวจสอบรายการ (Checklist)

แบบตรวจสอบรายการ (Checklist) เป็นการสร้างรายการของข้อความ (List of Statement) ที่เกี่ยวหรือสัมพันธ์กับคุณลักษณะของพฤติกรรม (Behevior Traits) หรือการปฏิบัติ (Performance) แต่ละรายการจะถูกประเมินหรือชี้ว่า มีหรือไม่มี (all or none) การตรวจสอบรายการนิยมนำไปใช้ในการประเมิน ความสนใจของผู้เรียน เจตคติ กิจกรรม ทักษะ และคุณลักษณะส่วนตัว ฯลฯ ดังตัวอย่างการใช้การตรวจสอบรายการในการประเมินทักษะการใช้กล้องจุลทรรศน์ (Microscope)

การสร้างแบบตรวจสอบรายการ

1. กำหนดลักษณะของสิ่งที่จะประเมินหรือตรวจสอบ

2. กำหนดและอธิบายการกระทำหรือพฤติกรรมที่ชัดเจนที่บ่งชี้คุณลักษณะของสิ่งที่จะประเมิน

3. เขียนรายการ ( ข้อความ ) ที่บ่งชี้การกระทำหรือพฤติกรรม และตรวจสอบว่า รายการนั้นชัดเจนซ้ำซ้อนกับรายการอื่นหรือไม่

4. จัดเรียงรายการที่แสดงลำดับของการกระทำหรือพฤติกรรม

5. นำไปทดลองกับสถานการณ์จริง และนำมาปรับปรุงแก้ไข

ข้อดีของแบบตรวจสอบรายการ

1. สามารถนำไปใช้สังเกตพฤติกรรม หรือการปฏิบัติได้อย่างละเอียดชัดเจน

2. ประเมินพฤติกรรม หรือการปฏิบัติเป็นรายบุคคลสามารถนำไปปรับปรุงได้ดี

ข้อจำกัดของแบบตรวจสอบรายการ

•  การสร้างรายการ ต้องบ่งชี้พฤติกรรมหรือการกระทำที่ชัดเจน ต้องสื่อความหมาย

ให้เข้าใจตรงกันระหว่างผู้ประเมิน

2. ผู้ประเมินต้องคลุกคลีกับนักเรียน การประเมินถึงจะเชื่อถือได้และถูกต้อง

3. ใช้เวลาในการประเมินผล

2.4 แบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale)

มาตราส่วนประมาณค่าเป็นเครื่องมือในการประเมินผลที่ทั้งครูใช้ในการประเมินนักเรียน และนักเรียนใช้ในการประเมินหรือพิจารณาตนเองหรือสิ่งอื่นๆ ใช้ทั้งการประเมินการปฏิบัติ กิจกรรม ทักษะต่างๆ และพฤติกรรมด้านจิตพิสัย เช่น เจตคติ แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ ความสนใจ ฯลฯ มาตราส่วนประมาณค่าแตกต่างจากแบบตรวจสอบรายการ (Checklist) ตรงที่แบบตรวจสอบรายการต้องการทราบว่ามีหรือไม่มีในเรื่องนั้น แต่มาตราส่วนประมาณค่าต้องการทราบละเอียดยิ่งกว่านั้น กล่าวคือ ต้องการทราบว่ามีเพียงใด

ในการประเมินผลภาคปฏิบัติ จะใช้มาตราส่วนประมาณค่าประเมินทั้งด้านกระบวนการ (Process) และผลที่ได้จากการปฎิบัติหรือผลผลิต (Product)

ตัวอย่างมาตราส่วนประมาณค่าในการประเมินการกล่าวสุนทรพจน์ ( ครูเป็นผู้ประเมิน นักเรียน ) ( ดัดแปลงจาก Oosterhof. 1994 : 261)

ตัวอย่าง

จงเขียนวงกลมรอบตัวเลขของแต่ละข้อตามความหมายต่อไปนี้

5 หมายถึง เด่นมาก

4 หมายถึง ดีมาก

3 หมายถึง ดี

2 หมายถึง ใช้ได้ , อยู่ในระดับมาตรฐานของชั้นนี้

1 หมายถึง ต่ำกว่ามาตรฐานของชั้น

1 2 3 4 5 1) การสร้างแรงจูงใจ

1 2 3 4 5 2) การจัดวางโครงสร้างสุนทรพจน์

1 2 3 4 5 3) การเร้าใจ

1 2 3 4 5 4) ไวยากรณ์

1 2 3 4 5 5) ความชัดเจนของการพูด

1 2 3 4 5 6) ท่าทาง

ตัวอย่างมาตราส่วนประมาณค่าในการวัดแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ ( นักเรียนประเมินตนเอง )

1. ข้าพเจ้าอยากแข่งขันตอบปัญหาเพื่อเอาชนะให้ได้

[ ] มากที่สุด [ ] มาก [ ] ปานกลาง [ ] น้อย [ ] น้อยที่สุด

2. เวลาทำงานแต่ละชิ้น ข้าพเจ้ามุ่งทำให้ได้ดีไม่มีที่ติ

[ ] มากที่สุด [ ] มาก [ ] ปานกลาง [ ] น้อย [ ] น้อยที่สุด

ลักษณะของมาตราส่วนประมาณค่า

มาตราส่วนประมาณค่ามีลักษณะที่สำคัญดังนี้

1. ผู้ตอบหรือผู้ประเมินจะต้องพิจารณาตอบตามความคิดเห็น เหตุผล สภาพความเป็นจริงเพียงคำตอบเดียวจากระดับความเข้มข้นที่กำหนดให้พิจารณาตั้งแต่ 3 ระดับขึ้นไป

2. ส่วนที่พิจารณาประเมิน หรือมาตราส่วน (Scale) เป็นค่าต่อเนื่อง (Continueous)

3. ระดับที่ให้พิจารณาประเมินอาจเป็นชนิดที่มีทั้งด้านบวกและด้านลบในข้อ เดียวกันหรือมีเฉพาะด้านบวก หรือมีเฉพาะด้านลบโดยที่อีกด้านหนึ่งเป็นศูนย์หรือระดับน้อยมาก

4. อาจสร้างให้มีลักษณะเชิงนิมาน (Positive) หรือลักษณะเชิงนิเสธ (Negative)

5. สามารถแปลงผลการพิจารณา หรือประเมิน ซึ่งอยู่ในรูปของข้อความให้เป็นคะแนนได้

การสร้างมาตราส่วนประมาณค่า ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปนี้

1. กำหนดลักษณะของสิ่งที่จะวัดหรือตรวจสอบ

2. กำหนดและอธิบายสิ่งที่จะวัด ( เช่น พฤติกรรม เจตคติ ฯลฯ ) ที่ชัดเจนที่บ่งชี้คุณลักษณะ ของสิ่งที่จะวัด

3. เลือกรูปแบบของมาตราส่วนประมาณค่าว่าจะใช้แบบใดจึงจะเหมาะสมมาก ที่สุด

4. เขียนข้อความที่จะวัดแต่ละข้อ

5. นำไปทดลองใช้ และปรับปรุง

ข้อดีของมาตราส่วนประมาณค่า

1. สามารถนำไปใช้วัดหรือสังเกตพฤติกรรม หรือการปฏิบัติได้อย่างละเอียดชัดเจน

2. สามารถนำผลการประเมินไปพิจารณาปรับปรุงได้ดี

ข้อจำกัดของมาตราส่วนประมาณค่า

1. ในการประเมินเป็นรายบุคคลโดยใช้การสังเกต จะใช้เวลามาก

2. บางครั้งตัดสินใจพิจารณาได้ยาก

2.4.3 ลักษณะของข้อคำถามที่ดี ควรมีลักษณะดังนี้

1. ไม่ควรสั้นหรือยาวเกินไป ควรใช้ข้อความเหมาะสมกะทัดรัด และตรงจุด

2. ข้อความหรือภาษาที่ใช้ต้องแจ่มชัด เข้าใจง่าย ผู้สร้างแบบสอบถามจะต้องระมัดระวังในเรื่องเหล่านี้คือ

2.1 หลีกเลี่ยงคำถามที่เป็นปฎิเสธ หรือปฏิเสธซ้อนปฏิเสธ

2.2 ขีดเส้นใต้คำที่ต้องการเน้นเป็นพิเศษ เพื่อให้ผู้ตอบตีความได้ถูกต้อง ตรงจุด

2.3 ไม่ควรใช้คำเน้น เช่น บ่อยๆ เสมอ ทันที ฯลฯ

2.4 ไม่ควรใช้คำที่มีความหมายหลายนัย เพราะผู้ตอบอาจจะตีความได้ไม่เหมือนกัน

3. ไม่ใช้คำถามถามนำ หรือเสนอแนะคำตอบ

4. ไม่ถามในเรื่องที่รู้แล้ว หรือถามในสิ่งที่วัดได้ด้วยวิธีอื่น เช่น จากการสังเกต จากเอกสารรายงานเป็นต้น

5. ไม่ถามในเรื่องที่เป็นความลับ หรือค่อนข้างเป็นเรื่องส่วนตัวมากเกินไป เพราะจะทำให้ผู้ตอบตอบไม่ตรงกับความจริง

6. ข้อคำถามต้องเหมาะสมกับผู้ตอบ คือ ต้องคำนึงถึงระดับการศึกษา ความสามารถ สติปัญญา อายุ ความสนใจ ฯลฯ

7. ข้อคำถามข้อหนึ่ง ๆ ควรถามเพียงปัญหาเดียว เพื่อให้ได้คำตอบที่ชัดเจนและตรงจุด

8. คำตอบ หรือตัวเลือกในข้อคำถามแบบปลายปิดควรมีมากพอ หรือให้เหมาะสมกับข้อคำถามนั้น

9. คำตอบที่ได้จากแบบสอบถาม ควรจะสามารถแปลงออกมาในรูปของปริมาณ และใช้สถิติอธิบายข้อเท็จจริงได้

ข้อดีของแบบสอบถาม

1. สร้างได้ง่าย ใช้สะดวก

2. ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย

3. คำตอบสามารถนำมาวิเคราะห์และสรุปผลได้ง่าย

4. สามารถเก็บข้อมูลที่อยู่ห่างไกล กระจัดกระจายกันได้โดยอาศัยระบบการ สื่อสารทางไปรษณีย์

5 . สามารถเก็บข้อมูลได้เป็นจำนวนมาก

ข้อจำกัดของแบบสอบถาม

1. ใช้ได้ดีกับผู้ที่สามารถอ่านออกเขียนได้ ถ้าผู้ตอบอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ หรือมีปัญหาด้านการอ่านและเขียนก็ควรใช้วิธีการสัมภาษณ์

2. แบบสอบถามที่ดีสร้างได้ยาก

แบบตรวจสอบรายการจะให้ประเมินหรือตัดสินว่า มี หรือ ไม่มี (Yes or No) แบบตรวจสอบรายการจะไม่ใช้ในการประเมินที่มีระดับหรือความถี่ของสิ่งที่เกิดขึ้น นอกจากนี้แบบตรวจสอบรายการสามารถใช้ประเมินผลรวม (Products) เช่น ประเมินคุณลักษณะของนักเรียน ประเมินบุคลิกภาพ ประเมินการปรับตัว

https://www.facebook.com/surveycan

http://www.surveycan.com/

02-583-9992 # 1535

บริษัท ลิทเทิล บิ๊ก ลิ้งค์ส จำกัด

99/31 ม.4 อาคารซอฟแวร์ปาร์ค  ชั้น 5  ต.ปากเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี 11120

Leave a comment